หนึ่งในโครงการแลกเปลี่ยนระดับอุดมศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมอเมริกันที่แตกต่าง เน้นการฝึกวิชาชีพแบบชั่วคราวหรืองานตามฤดูกาล ผ่านการทำงานในช่วงปิดภาคเรียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสาขาต่างๆ (ยกเว้นบางสาขา) โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 2 - 4 เดือน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาปิดภาคเรียน และช่วงเวลาเปิด – ปิด ของสถานที่ทำงานนั้น ๆ หลังจากนั้นนักศึกษายังสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อีก 1เดือน หลังสิ้นสุดการทำงาน
โดยบริษัทฯ และองค์กรแลกเปลี่ยนในประเทศสหรัฐอเมริกาจะประสานงานในการคัดสรรสถานที่ทำงานที่มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้
โครงการ Summer Work and Travel in USA เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมของรัฐบาลอเมริกันโดยมีวัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่เน้นการฝึกวิชาชีพ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (Cultural Exchange) การทำงานกับชาวอเมริกันและนานาชาติ โครงการนี้ไม่ใช่การจัดหางานในตลาดแรงงาน ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องมีสถานภาพเป็นนักศึกษาและต้องผ่านการคัดเลือก เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว ทางโครงการจะดำเนินการขอวีซ่าประเภทนักเรียนแลกเปลี่ยน(J–1)เพื่อผู้สมัครสามารถเข้าร่วมโครงการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ช่วงเวลาที่นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่
· ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป สำหรับนักศึกษาที่ปิดภาคเรียนระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม (ภาคปกติ)
· ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป สำหรับนักศึกษาที่ปิดภาคเรียนระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม (ภาคนานาชาติ)
วัตถุประสงค์ของโครงการ
· ส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน
· ส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษ ในระหว่างที่ทำงานและดำเนินชีวิต
· ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในระบบอเมริกัน จากประสบการณ์ในช่วงเวลาทำงาน
· เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศสหรัฐอเมริกา
· รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ในระหว่างฝึกงาน
รายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการ
คุณสมบัติผู้สมัคร
· มีสถานภาพโสด และมีสัญชาติไทย
· อายุระหว่าง 18 - 28 ปี
· มีสถานภาพเป็นนักศึกษาภาคปกติระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 – 4 หรือ ระดับปริญญาโท ( ในระหว่างเข้าร่วม โครงการยังคงมีสถานภาพเป็นนักศึกษา )
· มีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00
· มีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษดี และเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี
· มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและมีความพร้อมที่จะทำงานหนัก
· สามารถเรียนรู้และปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และในวัฒนธรรมที่แตกต่างได้
ข้อมูลสถานที่ทำงาน
สำหรับสถานที่ทำงานที่นิยมเปิดรับนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการให้เข้าทำงานในช่วงปิดภาคฤดูร้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงาน บริการ ที่ทำการเป็นฤดูกาล งานที่มีลักษณะลำลอง (Casual job ) หรือเป็นสถานที่ที่ต้องการรับนักศึกษาทำงานเป็นการชั่วคราว (Seasonal service job) เช่น งานในสวนสนุก (Theme park) อุทยาน หรือ วนอุทยาน หรือ สวนสาธารณะ(National park) สถานที่พักผ่อน (Resort) โรงแรม (Hotel) และร้านค้า (Merchandiser) โดยตำแหน่งงานในแต่ละสถานที่ทำงานจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไป อาทิ เช่น
· งานในสวนสนุก (Theme park) ได้แก่ Food Service / Game Operator / Ride Operator / Merchandise / Ground Area Host & Hostess (พนักงานทำความสะอาด)
· งานในอุทยาน หรือ วนอุทยาน หรือ สวนสาธารณะ (National park) สถานที่พักผ่อน (Resort) โรงแรม (Hotel) และร้านค้า (Merchandiser) เป็นงานในสายการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว เช่น Front Desk / Food Service / Merchandise/ House Keeping / Kitchen / Server
· งานในร้านอาหาร (Fast Food / Food Plaza / Restaurants) มักได้รับตำแหน่งเป็น Crew staff บางสถานที่ทำงานอาจจะจัดตำแหน่งงานและแจ้งให้นักศึกษาทราบได้เลยเมื่อนักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ แต่บางสถานที่ทำงานจะแจ้งตำแหน่งงานให้นักศึกษาเมื่อเดินทางไปถึง และหลังจากที่เข้าสัมภาษณ์กับหัวหน้างาน(Supervisor) อีกครั้งหรืออาจมีการคัดเลือกซ้ำอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่
ลักษณะที่พักอาศัย
นายจ้างจะเป็นผู้จัดหาที่พักให้กับนักศึกษา ซึ่งที่พักมีหลากหลายประเภทให้เลือก อาทิ เช่น Apartment, Share House, Home Stay, Dormitory โดยที่นักศึกษาจะชำระค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งมักจะเป็นราคาที่ถูกกว่าปกติ
สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากโครงการ Work & Travel program in USA
ค่าตอบแทนในการทำงาน USD 6 – USD 10 ต่อชั่วโมง ไม่รวมค่าล่วงเวลา , ทิป , ค่าคอมมิชชั่น และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน และข้อตกลงของนายจ้าง ซึ่งนักศึกษาจะต้องทำงานอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 4 เดือน สิ่งสำคัญที่สุดคือได้รับประสบการณ์จริง จากการทำงานจริง ที่อยู่นอกเหนือจากในห้องเรียน ได้เรียนรู้วิธีกลยุทธ์ และระบบการทำงานจริงนักศึกษายังจะได้รับ Certificate จากองค์กรต่างประเทศ และยังได้ท่องเที่ยวต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ข้อเสนอแนะในการที่จะเข้าร่วมโครงการให้ประสบความสำเร็จ
- มองทุกอย่างในเชิงบวก
- ให้โอกาสกับตัวเองในยามที่เรารู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ หรือล้มเหลว
- พยายามไม่ปลีกตัวจากชาวอเมริกันที่เป็นเพื่อน ผู้ร่วมงาน หัวหน้าหรือนายจ้างของทางนักศึกษา พยายามสนุกสนานในการปรับตัวในการทำงาน และแก้ไขปัญหา ที่สำคัญที่สุดคือ ระลึกถึงจุดประสงค์ของนักศึกษาที่เดินทางมายังประเทศสหรัฐอเมริกา
- เปิดใจให้กว้าง และเป็นมิตรกับคนอื่นๆ และคนอื่นก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกันให้นักศึกษา
- รักษาการณ์มีอารมณ์ขัน และใจกว้าง ระลึกว่าประสบการณ์ที่ไม่ปกติที่สุด ก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าเพื่อความบันเทิง และจะทำให้นักศึกษามีเรื่องเล่าให้เพื่อนๆ และทางครอบครัวได้หัวเราะ
เอกสารสำคัญ
เอกสารที่จะต้องเตรียมเพื่อเข้าร่วมโครงการ Work and Travel and Internship/Training
1.หนังสือเดินทาง PASSPORT
หนังสือเดินทาง เป็นเอกสารสำคัญในการเดินทาง ที่ออกโดยกองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนักศึกษาที่เดินทางจะต้องมีหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุการใช้งานได้อีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
หนังสือเดินทางมีความสำคัญอย่างมากเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ หรือระหว่างที่พักอยู่ต่างประเทศเพราะถือเป็นบัตรประจำตัวที่สำคัญที่สุด ซึ่งนักศึกษาควรพกติดตัวตลอดเวลา หรือจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและเก็บสำเนาหนังสือเดินทางพร้อมหน้าวิซ่าติดตัวไว้แทนฉบับจริง หากหนังสือเดินทางหาย นักศึกษาต้องติดต่อสถานฑูตไทยในสหรัฐอเมริกา หรือกงสุลที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอทำเรื่องขอออกเล่มใหม่ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการพอสมควร แต่เพื่อความสะดวกนักศึกษาควรมีสำเนาไว้เพื่อช่วยให้ภาครัฐตรวจสอบได้เร็วขึ้น
2.วีซ่า (VISA)
วีซ่าเป็นตราประทับที่สถานทูตหรือสถานกงสุลของแต่ละประเทศ ใช้ประทับลงในหนังสือเดินทาง เพื่อแสดงให้ทราบว่าเจ้าของหนังสือเดินทางนั้นๆได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศที่อนุมัติได้
วีซ่ามีหลายประเภท เช่น วีซ่าประเภทท่องเที่ยว ประเภทธุรกิจ และประเภทนักเรียน เป็นต้น แต่สำหรับในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ทั้งระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา จะได้รับวีซ่าประเภท J-1 (exchange visitor) จากสถานทูตสหรัฐอเมริกาหรือ สถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทย โดยทั่วไปวีซ่ามีการกำหนดอายุการใช้งาน และเงื่อนไขของวีซ่าแต่ละฉบับด้วย ดังนั้นนักศึกษาที่ได้รับวีซ่าควรศึกษาและทำความเข้าใจกับวีซ่าที่ตนได้รับ เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศที่เราไปเยือน
3.ตั๋วเครื่องบิน
เนื่องจากตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นไปจะไม่มีการออกตั๋วเครื่องบินเป็นแบบตั๋วกระดาษอีกต่อไปแล้วซึ่ง ณ ปัจจุบันมีสายการบินกว่า 30 สายการบินทั่วโลกสามารถออกตั๋วเครื่องบิน E-Ticketing ได้แล้ว
E-Ticket หรือ Electronic Ticket คือตั๋วเครื่องบินรูปแบบใหม่ที่สายการบินต่างๆได้พัฒนาให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกในการเดินทาง คือ นักศึกษาสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องถือตั๋วเครื่องบิน เพราะนักศึกษาจะได้รับเอกสารยืนยันผ่านทาง e-mail ซึ่งนักศึกษาสามารถ print เอกสารดังกล่าวและนำไปทำการ check-in ได้เหมือนตั๋วเครื่องบินปกติ เพราะข้อมูลการซื้อE-Ticket ของนักศึกษาได้ถูกบันทึกอยู่ในระบบสำรองที่นั่งและระบบ check-in ของสายการบินนั้นเรียบร้อยแล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาจะได้รับคือ ราคาที่ถูกกว่าการซื้อตั๋วเครื่องบินแบบปกติ เพราะสายการบินต่างๆใช้ต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่าทำให้ราคาของ E-Ticket ถูกกว่า
นักศึกษาที่จะเดินทางท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเดินทางเพราะอาจเกิดความยุ่งยาก จากการที่เที่ยวบินเต็ม การหาที่พัก การเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งในปัจจุบันสายการบินส่วนใหญ่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนการเดินทางด้วย
4.แบบฟอร์ม DS-2019
DS-2019 เป็นเอกสารสำคัญของทางรัฐบาลที่อนุญาตให้องค์กรแลกเปลี่ยนออกให้กับนักศึกษาผู้ได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมโครงการ แบบฟอร์ม DS-2019 นี้เป็นเอกสารที่จำเป็นต่อการยื่นขอวีซ่าประเภท J-1 และเมื่อนักศึกษาได้รับอนุมัติวีซ่าแล้ว เจ้าหน้าที่ของสถานทูตจะนำสำเนา DS-2019 ใส่ซองปิดผนึกและเย็บเข้ากับหนังสือเดินทาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอเมริกานำไปบันทึกเมื่อนักศึกษาเดินทางเข้าประเทศ ห้ามมิให้นักศึกษาแกะซองโดยเด็ดขาด
DS-2019 นี้มีความสำคัญมาก เพราะนักศึกษาจำเป็นต้องใช้เอกสาร DS-2019 ควบคู่กับวีซ่า J-1 ของนักศึกษาในการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกรอกเอกสารในวันเริ่มต้นงานการสมัครงานที่สอง การกรอกใบขอหมายเลข Social Security หรือการเข้าออกประเทศแทบจะกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มี DS-2019 แล้วนักศึกษาจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ดังนั้นนักศึกษาต้องระมัดระวังมิให้เกิดการสูญหายเป็นอันขาด เพราะหนังสือเดินทางและวีซ่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนของนักศึกษา แต่ DS-2019 จะบ่งบอกถึงสภาพนักศึกษา ซึ่งสองสิ่งนี้จะต้องใช้ควบคู่กัน นักศึกษาจึงจะได้รับสิทธิในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่จะทำให้นักศึกษาสมัครงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ DS-2019 ยังกำหนดระยะเวลาที่นักศึกษาสามารถอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
5.SEVIS FEE
SEVIS เป็นคำย่อที่มาจากชื่อเต็มว่า Student and Exchange Visitor Information System ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลอเมริกันเพิ่งเริ่มนำมาใช้ในปี 2003 เพื่อบันทึกข้อมูลของนักศึกษาต่างชาติ และนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา โดยระบบนี้เป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีการส่งต่อข้อมูลของนักเรียนนักศึกษาถึงกันระหว่างสถานศึกษาองค์กรแลกเปลี่ยนและรัฐบาลโดยระบบนี้เองกำหนดให้นักศึกษาจะต้องรายงานให้องค์แลกเปลี่ยน(หรือสถาบันการศึกษา)ทราบเสมอถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆของนักศึกษา ดังนั้นเมื่อนักศึกษาเดินทางถึงประเทศสหรัฐอเมริกา นักศึกษาต้องรายงานตัวในระบบ SEVIS ภายใน 20 วันหลังจากเดินทางเข้าประเทศ หากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ นักศึกษาต้องแจ้งให้องค์กรทราบภายใน 10 วัน นับจากวันที่ย้ายที่อยู่ การดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนจะทำให้ข้อมูลในระบบของนักศึกษาถูกต้อง แต่หากนักศึกษาไม่รายงานตัวไม่แจ้งการเปลี่ยนที่อยู่หรือเปลี่ยนงานกับองค์กรแลกเปลี่ยนนักศึกษาอาจถูกให้ออกจากโครงการได้
ระบบ SEVIS นี้ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจักทำและบำรุงรักษารัฐบาลจึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียม SEVIS กับนักเรียน นักศึกษาต่างชาติทุกคนโดยมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 35 เหรียญ ถึง 100 เหรียญ แล้วแต่โครงการที่นักศึกษาเข้าร่วม ค่าธรรมเนียมนี้ต้องชำระก่อนการยื่นขอวีซ่า และไม่สามารถเรียกคืนได้ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น |