Q
นักเรียนแลกเปลี่ยน คืออะไร?
A
ทำความรู้จักกับโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน
นักเรียนแลกเปลี่ยน คือนักเรียนที่มีอายุ 15-18.5 ปี (แล้วแต่โครงการ) ต้องการที่จะไปหาประสบการณ์เพิ่มเติม เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ของต่างชาติ โดยจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ จึงจะได้ถูกคัดเลือกให้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่จัดทำโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน เป็นต้น
นักเรียนแลกเปลี่ยนมีหน้าที่เผยแผ่ หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยนักเรียนแลกเปลี่ยนจะได้ไปพักอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์หรือที่เรียกกันว่า Host Family โดยครอบครัวอุปถัมภ์นี้จะรับนักเรียนแลกเปลี่ยน ไปเลี้ยงดูตลอดเวลาที่อยู่ประเทศนั้น ซึ่งองค์กรแลกเปลี่ยนจะเป็นผู้จัดหาให้ และได้พิจารณาดูแล้วว่าครอบครัวอุปถัมภ์นี้สามารถดูแลเด็กนักเรียนได้หรือไม่ โดยทีองค์กรแลกเปลี่ยนจะหาครอบครัวให้นักเรียนแลกเปลี่ยน โดยการที่นักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องเขียนเรียงความแนะนำตัวเอง และนักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์จากองค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยน เพื่อประเมินทัศนคติของนักเรียนว่าเป็นอย่างไร พร้อมกับหาครอบครัวอุปถัมภ์ที่เข้ากับนักเรียนได้ โดยฝ่ายครอบครัวอุปถัมภ์ก็จะเป็นฝ่ายเลือกนักเรียนด้วยเช่นกัน
โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ในการให้นักเรียนแลกเปลี่ยนจากต่างชาติ เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 10 – 12) ซึ่งนักเรียนจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน หรือจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเล็กน้อย อีกทั้งยังมีครอบครัวอุปถัมภ์ จัดหาที่พัก และอาหาร (มื้อเช้า และเย็น) และเป็นผู้ปกครองนักเรียนตลอดระยะเวลาในโครงการ โดยองค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยนจะเป็นผู้จัดหาโรงเรียน ที่ตั้งอยู่ใกล้กับครอบครัวอุปถัมภ์ ให้กับนักเรียนแลกเปลี่ยนแต่ละราย
Q
การเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนแตกต่างจากโครงการศึกษาต่อต่างประเทศทั่วไปอย่างไร?
A
โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ซึ่งนักเรียนจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน หรือจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเล็กน้อย เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 10-12) อีกทั้งยังมีครอบครัวอุปถัมภ์ หรือที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า โฮสต์ (Host Family) จัดหาที่พักและอาหาร(มื้อเช้า และเย็น) และเป็นผู้ปกครองนักเรียนตลอดระยะเวลาในโครงการ โดยองค์กรนักเรียนในต่างประเทศจะเป็นผู้จัดหาโรงเรียน และครอบครัวอาสาสมัครดังกล่าวให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละราย ส่วนโครงการศึกษาต่อต่างประเทศ ผู้ปกครองนักเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเรียนอยู่ต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ค่อนข้างมาก
Q
ค่าใช้จ่ายระหว่างโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน และโครงการศึกษาต่อต่างประเทศแตกต่างกันอย่างไร?
A
แตกต่างกันมาก นักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องสมทบทุนโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนประมาณ USD 8,000 – 15,000 ต่อปีการศึกษา(แล้วแต่ประเทศ) ในขณะที่นักเรียนอาจต้องใช้ถึง USD 20,000 – 25,000 ต่อปีการศึกษา กรณีเลือกไปศึกษาต่อเอง มีข้อดีคือนักเรียนสามารถเลือกรัฐที่ต้องการไปเรียน, เลือกโรงเรียน(เอกชน หรือรัฐบาล) และที่พัก(อยู่หอ หรือ Homestay) ได้ตามความต้องการ
Q
นักเรียนแลกเปลี่ยนสามารถเลือกรัฐ, สถานศึกษา และโฮสต์ในประเทศเจ้าบ้านได้หรือไม่?
A
ไม่ได้ เนื่องจากโรงเรียนและโฮสต์จะเป็นผู้เลือกนักเรียนเอง ดังนั้น องค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศจะพยายามอย่างดีที่สุด ในการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ และโรงเรียน ที่เหมาะสมให้แก่นักเรียน
Q
นักเรียนจะได้เรียนในชั้นเรียนในระดับใด (Grade Level)?
A
โดยปกติถ้าเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แอฟริกาใต้, แคนาดา หรือนิวซีแลนด์ นักเรียนจะได้เรียนในชั้นถัดไป เช่น เรียนจบชั้น ม.4 ในเมืองไทย เมื่อไปต่างประเทศ นักเรียนจะถูกจัดให้เข้าเรียนชั้น ม.5 เป็นต้น แต่บางครั้งนักเรียนอาจถูกลดชั้นก็ได้ หากโรงเรียนเห็นว่านักเรียนมีภาษาอ่อนมาก เช่น บางโรงเรียนอาจจะทดสอบภาษาของนักเรียนแลกเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเดินทางไปถึง หรือบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น นักเรียนแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่จะถูกลดชั้นเรียนด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา
Q
นักเรียนจะทราบได้อย่างไรว่าต้องลงเรียนวิชาอะไรบ้าง?
A
ให้นักเรียนปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาที่โรงเรียน ส่วนใหญ่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ จะจัดให้นักเรียนลงเรียนประมาณ 7 วิชา แบ่งเป็นวิชาบังคับ 1-2 วิชา ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบังคับให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์อเมริกัน และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือประมาณ 5 วิชา นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัด **ซึ่งควรเลือกเรียนตามความจำเป็นที่เราสามารถนำกลับมาใช้ในการขอเทียบชั้นเรียนในเมืองไทยต่อไป หากเป็นประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น, เยอรมนี หรือฝรั่งเศส นั้น ขึ้นอยู่กับระเบียบและกฎเกณฑ์ของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
Q
หากพบว่านักเรียนคนใดมีผลการเรียนตกต่ำ โดยโรงเรียนพิจารณาให้นักเรียนต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
A
นักเรียน และผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งองค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยน และบริษัทฯ จะประสานงานแจ้งให้ท่านทราบเป็นกรณีไป
Q
ควรจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าใดต่อเดือนให้กับบุตรหลานของท่าน?
A
นักเรียนจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ USD 150 – 300 ต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ เช่น ค่าโทรศัพท์, ค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียน, ค่าเข้าร่วมกิจกรรมชมรมต่างๆ ที่โรงเรียน เป็นต้น
Q
หากต้องการจะเปลี่ยนโฮสต์ จะสามารถทำได้หรือไม่?
A
องค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยน ในต่างประเทศจะพิจารณาตามดุลยพินิจที่เหมาะสม ทั้งนี้ จะไม่สามารถเปลี่ยนได้หากนักเรียนมีเหตุผล ดังต่อไปนี้.- ไม่ชอบ, ไม่อยากอยู่ในเมืองเล็กๆ เพราะชนบทไป หรือเพราะอยากไปอยู่รัฐอื่น, ไม่ชอบคนสีผิวดำ หรือไม่ชอบอาชีพของโฮสต์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นความต้องการส่วนบุคคล ซึ่งหากต้องการอย่างนี้ นักเรียนไม่ควรเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนตั้งแต่ตอนแรก และควรตัดสินใจใหม่ตั้งแต่บัดนี้ เนื่องจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนนั้น มีกฎระเบียบมากมายบังคับ ดังนั้น นักเรียนควรเลือกไปโครงการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (F-1 VISA) ซึ่งจะสามารถเลือกได้ตามใจชอบ
Q
นักเรียนจะทราบได้อย่างไรว่าจะได้โฮสต์เมื่อใด?
A
กระบวนการในการสรรหาโฮสต์ มีหลายขั้นตอน องค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยน ต้องจัดส่งข้อมูลนักเรียนเพื่อให้โฮสต์ ได้พิจารณารับนักเรียนแลกเปลี่ยน ในเวลาเดียวกันนักเรียนแลกเปลี่ยนไม่ได้มีเฉพาะจากประเทศไทย ระยะเวลาจะได้โฮสต์ช้า หรือเร็วขึ้นอยู่กับการส่ง Application ของนักเรียนแลกเปลี่ยน ว่าส่งมาช้าหรือเร็ว ลงรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ โดยปกติจะได้โฮสต์ทุกคนก่อนการเดินทาง และจะรู้โฮสต์ก่อนการเดินทางประมาณ 1 – 2 เดือน แต่บางกรณีอาจจะรู้ก่อนการเดินทางเพียงไม่กี่สัปดาห์
Q
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการพักอยู่กับโฮสต์
A
โฮสต์ เป็นครอบครัวอาสาสมัคร ซึ่งมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่บุคคลเหล่านี้มีความสนใจหลากหลายในวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ และมีความใจกว้างในการเปิดโอกาสให้นักเรียนแลกเปลี่ยนได้มาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน เพื่อศึกษาซึ่งกันและกัน ดังนั้น ควรปฏิบัติตัวเสมือนสมาชิกในครอบครัว มีกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเหลือหน้าที่ในบ้านตามสมควร พยายามเปิดใจสู่วัฒนธรรมใหม่ๆ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ให้มากที่สุด
Q
กลับมาต้องซ้ำชั้นหรือไม่?
A
ตามระเบียบการกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนแลกเปลี่ยนทุกคนมีสิทธิเลื่อนชั้นเรียนได้โดยไม่ต้องซ้ำชั้น แล้วแต่ความสมัครใจ หากใครต้องการเรียนซ้ำก็ได้ หรือแล้วแต่ระเบียบการของแต่ละโรงเรียนที่น้องๆ เรียน ซึ่งมีหลักการแตกต่างกัน และกรณีที่น้องๆ เรียนสายวิทย์ หากกลับมาจากโครงการฯแล้ว ไม่อยากเรียนซ้ำชั้น นักเรียนจะต้องปรึกษาอาจารย์และโรงเรียนถึงนโยบายการปฏิบัติสำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนฯ
Q
มีหน่วยงาน, องค์กร, อะไรบ้าง? ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนแลกเปลี่ยน
A
ประเทศไทย
นักเรียน : ผู้เข้าร่วมโครงการ
ผู้ปกครอง/พ่อ-แม่ : อนุญาตให้นักเรียนเดินทางเข้าร่วมโครงการ และสนับสนุนเงินทุนแก่นักเรียน
โรงเรียน : อนุญาตให้นักเรียนลาพักการเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ
อำเภอ/เขต : รับรองความยินยอมพ่อ-แม่ ให้นักเรียนเดินทางเข้าร่วมโครงการ พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
โรงพยาบาล/คุณหมอ : ออกไปรับรองการตรวจสุขภาพ/ฉีดวัคซีน
องค์กร/ตัวแทนองค์กรนักเรียแลกเปลี่ยนต่างประเทศ/บริษัท : รับสมัคร-คัดเลือกนักเรียน-ดำเนินการด้านเอกสาร/จัดการเรื่องการเดินทางของนักเรียน และ อื่นๆ
สถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย :อนุมัติวีซ่านักเรียนแลกเปลี่ยน
ประเทศสหรัฐอเมริกา
องค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยน : ออกเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด-เอกสารประกอบการยื่นขอวีซ่า-จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ และโรงเรียนให้กับนักเรียน, ดูแลนักเรียนตลอดการเข้าร่วมโครงการ, จัดการเรื่องประกันสุขภาพ-อุบัติเหตุ ของนักเรียน
ครอบครัวอุปถัมภ์(Host)ให้ที่พัก, อาหารเช้า-เย็น การเดินทางไป-กลับโรงเรียน และเป็นผู้ปกครองนักเรียน ตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ
โรงเรียน : สำหรับนักเรียนได้เรียน-ร่วมกิจกรรมต่างๆ
ตัวแทนองค์กรนักเรียนแลกเปลี่ยนประจำพื้นที่ : ดูแลนักเรียน เป็นที่ปรึกษานักเรียนในเรื่องต่างๆ